มนุษยสัมพันธ์กับการพัฒนาบุคลิกภาพ

ทฤษฎีการสร้างมนุษยสัมพันธ์มีองค์ประกอบ 3 องค์ประกอบคือ เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ ( 2520 : 227 )

  1. ให้มนุษย์มีความสุข ( Happy )
  2. ให้การยอมรับแก่เพื่อมนุษย์ ( Acceptable)
  3. ให้เพื่อนมนุษย์ได้รับประโยชน์ร่วมกัน (Productivity )

จากแนวความคิดดังกล่าวข้างต้น พอสรุปได้ว่า ทุกชีวิตที่เกิดขึ้นมา และกำลังดำเนินอยู่ แม้ว่าทุกคน จะมีความแตกต่างกัน แต่ทุกคน เป็น มนุษย์ เหมือนกัน ต่างก็ต้องการให้ตัวเอง มีความสุขปราศจากโรคภัยเบียดเบียน มีร่างกายที่สะอาด และงามตามที่ธรรมชาติ กำหนด มนุษย์ทุกคนมีความต้องการสิ่งต่างๆ ที่จะอำนวยความสะดวกสบายให้แก่บุคคล ดังเช่น แนวความคิด เมื่อความต้องการลำดับต้นๆ ได้รับการตอบสนองแล้ว มนุษย์ก็จะต้องการสิ่งอื่นๆ อีก จนไปถึงขั้นสุดท้ายก็ เพื่อจะรู้ว่าแท้จริงแล้ว ในความเป็นมนุษย์นี่เราต้องการ และปรารถนาอะไร ในการอยู่ร่วมกันกับคนอื่นๆ บุคคลยังต้องการการยอมรับ และต้องการให้ เพื่อนมนุษย์ได้รับ ประโยชน์ร่วมกัน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ดังนั้นมนุษย์ปฏิเสธการอยู่รวมกัน เป็นกลุ่มไม่ได้และเพื่อ ให้เป็นที่รัก ของคนอื่นเราทุกคนก็ต้องพัฒนาตน

แนวทางหนึ่งที่สามารถพัฒนาตนได้คือ การสร้างความมนุษยสัมพันธ์เพื่อการพัฒนาบุคลิกภาพ ซึ่งมีแนวทางการปฏิบัติดังนี้ คือ

  1. การจะสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นให้ดีได้สิ่งสำคัญคือ เราต้องสำรวจตัวเราเองก่อน ว่าเรามีจุดดีจุดด้อยอย่างไร แล้วจึงพัฒนาตน
  2. ศึกษาจากตำรา เอกสาร สื่อต่างๆ ที่ทำให้เราเห็นตัวแบบในการแสดงบุคลิกภาพแล้ว ฝึกหัดการเป็นคนช่างสังเกต จะทำให้เราเกิดการเรียนรู้และแสดงพฤติกรรมได้ถูกต้องตาม กาลเทศะ
  3. พยายามปรับปรุงบุคลิกภาพของตนอยู่เสมอ ตั้งแต่เส้นผม จนถึงปลายเท้าเราต้องดี รักษาความสะอาดของร่างกาย เสื้อผ้าอาภรณ์ให้ดี รู้จักแต่งตัวตามยุคตามสมัย ไม่เชยจนเกินไปและไม่ล้ำยุคล้ำแฟชั่นจนดูไม่ดีนัก
  4. ฝึกพูดจาให้เป็น พูดอย่างสร้างสรรค์ สื่อความชัดเจนตรงไปตรงมา จริงใจ ในคำพูด ควรอ่อนน้อม ไม่แข็งจนเกินไป ไม่ใช้อำนาจในคำพูดแม้ว่าเราจะมีอำนาจก็ตาม
  5. หัดเป็นผู้กระทำสิ่งใดๆ ให้ผู้อื่นบ้าง เช่น รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น ให้การยอมรับนับถือ ให้เกียรติ รู้จักเคารพผู้อาวุโสกว่า รู้จักการ อ่อนน้อม ถ่อมตน เอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่เอาเปรียบคนอื่นเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การมีบุคลิกภาพแบบประชาธิปไตย บ้างครั้ง เป็นผู้นำได้ บางครั้งก็เป็นผู้ตามได้ ทำตัวให้คงที่คงวา มีความมั่นคงทางอารมณ์เป็นต้น
  6. ให้ตระหนักเสมอว่าเราอยู่ตัวคนเดียวในโลกไม่ได้เราต้องสัมพันธ์กับคนอื่นเมื่อจะต้องอยู่ ร่วมกับคนอื่นไม่ว่า จะเป็นคนในครอบครัว หรือคนในสังคมอื่นๆเช่นที่สถาบันการศึกษา ที่ทำงาน เราจะต้องปฏิบัติกับผู้อื่นอย่างดี ให้เกียรติกันและกัน สิ่งที่เราปฏิบัติให้กับ ผู้อื่นเราก็จะได้สิ่งนั้นคืนเช่นกัน แต่ถ้าเผอิญเราไม่ได้สิ่งดีๆตอบก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะเลิกยึดถือแนวปฏิบัติให้ยอมรับว่า มนุษย์มีความแตกต่างกัน ถูกอบรมเลี้ยงดูมาไม่เหมือนกัน เราทำอะไรกับใคร ไม่จำเป็นต้องหวังสิ่งที่จะกลับมา เช่นเราทำดี ก็ให้รู้ว่า เราต้องการที่จะทำดี แต่ไม่ได้หมายความว่าดีนั้นต้องสนองเรา จงทำตัวเหมือนงูที่ลอกคราบแล้วทิ้งคราบมันฉันใด ความดีก็เช่นกัน ทำแล้วเรารู้สึกภูมิใจ สุขใจนั่นคือสิ่งที่เราได้แล้ว ส่วนใครจะเห็นหรือไม่เห็นไม่ใช่สาระ
  7. การสร้างความสัมพันธ์โดยใช้หลักศาสนาก็ทำให้บุคคลอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขได้ เช่น หลักธรรมในเรื่องสังคหวัตถุ 4 ก็จะอธิบายเรื่อง การแบ่งปัน การให้ความช่วยเหลือคนอื่น การพูดจริง การพูดไพเราะน่าฟัง การปฏิบัติตนให้มีค่า มีประโยชน์ต่อคนอื่น และมีความเสมอต้นเสมอปลายในการปฏิบัติตน นอกจากนี้ก็มีเรื่องทิศ 6 ที่อธิบายเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ว่าแต่ละคนควรจะ ปฏิบัติตนอย่างไรหรือแม้กระทั่งหลักธรรมในเรื่องสัปปุริสธรรม 7 ประการอันได้แก่คุณธรรมหรือแนวทางการปฏิบัติของคนดีที่พึงปฏิบัติ
  8. การศึกษาแนวความคิดทางจิตวิทยากลุ่มต่างๆ ทฤษฎีต่างๆ ก็จะเป็นแนวทางให้ตัวเรา บุคคลพัฒนา และปรับปรุงบุคลิกภาพ ของตนเองได้ เช่น ในทางจิตวิทยาอธิบายเรื่องการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้องรู้จักยอมรับนับถือ มีความจริงใจ รู้จักเปิดเผยตนเอง รู้จักการสร้างสัมพันธภาพในขณะนั้น และรู้จักที่จะเผชิญหน้ากับคนอื่น ทำตัวให้เข้ากับใครง่ายๆ เป็นต้น
  9. การให้ความร่วมมือกับคนอื่น ๆ ในการสร้างมนุษยสัมพันธ์ไม่ใช่สร้างวันสองวันแต่เป็น การสร้างความสัมพันธ์ที่ยาวนาน และแบบของพฤติกรรมเราเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม ของสังคม เราเป็นคนมือไม่นิ่งช่วยเหลือคนอื่นอย่างเต็มใจ สิ่งเหล่านี้จะเป็น เสน่ห์ให้ใครๆ ก็รัก ใครๆ ก็ปรารถนาที่จะช่วยหรือเกื้อกูล เพราะรู้จักให้ความช่วยเหลือผู้อื่นเสมอๆ
  10. ฝึกเป็นคนตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบต่องานที่ทำ เรียกว่า รักษาคำพูดรักษาเวลา มีความกระตือรือร้นในงานที่ทำ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทำงานสนุกอารมณ์ดี

 

 

ถ้าบุคคลมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ก็จะเกิดการพัฒนาบุคลิกภาพของตนเองได้พัฒนาขึ้นและในเรื่องนี้จะช่วยให้บุคคลสามารถ ทำงานและอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างมีความสุข การเริ่มทำงานทุกงานทั้งภาครัฐและเอกชน ความรู้เรื่องมนุษยสัมพันธ์สามารถจะช่วยให้ บุคคลสามารถทำงานได้อย่าง มั่นใจจาก พระบรมราโชวาทในเรื่องงาน

“การทำงานยากลำบากกว่าการเรียนยิ่งนัก การเรียนนั้นเรียนตามหลักสูตรหรือเรียนวิชาต่างๆ ตามที่ทางมหาวิทยาลัยจัดหลักสูตรให้ แต่สำหรับการทำงานไม่มีหลักสูตรวางไว้ ผู้ทำงานต้องศึกษาระบบงานเอง และจะต้องใช้ ความคิดริเริ่ม และความคิดพิจารณา ด้วยตนเองในอันที่จะกระทำสิ่งใด อย่างไรเมื่อใด หากไม่รู้จักพิจารณาให้ถูกช่อง ถูกโอกาส ถึงมีวิชาความรู้อยู่กับตัวมากเพียงใด ก็ไม่เป็นผลแก่งานและแก่ตัวผู้ทำงานนัก ดังนั้นผู้ที่เริ่มจะทำงานใหม่ ควรศึกษางาน ที่จะต้องทำให้ถ่องแท้ มีมนุษยสัมพันธ์กับ บุคคลในองค์กรให้ได้ทั้งที่ต่ำกว่าเรา เสมอเราหรือเหนือกว่าเราให้ได้”

พระบรมราโชวาท โดยสรุปนี้ให้กับบัณฑิตใหม่ ที่กำลังจะก้าวไปสู่ตลาดแรงงาน ก้าวไปสู่อาชีพ เพื่อสร้างตัว สร้างฐานะ การศึกษาที่หลายท่านร่ำเรียนมา จะมาเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ และรายได้ที่ได้มาโดยหยาดเหงื่อของเรา มันจะสร้างความภูมิใจ ให้กับตัวเรา แต่มีหลายคนที่เมื่อเข้าสู่ระบบงานแล้วไม่สามารถทำงานตามที่ตนมีความรู้ ความสามารถให้ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งไว้

 

 

เทคนิควิธีการสร้างมนุษยสัมพันธ์ในการสร้างมิตร

 

  1. ยิ้มแย้ม หมายถึง เราจงยิ้มแย้มเข้าไว้ ยิ้มอย่างจริงใจ ยิ้มทุกที่ ยิ้มให้กับทุกคน
  2. แจ่มใส หมายถึง การที่เรามีอารมณ์ที่แจ่มใส สดใส ใครอยู่ใกล้ก็รู้สึกอบอุ่นมีความสุข
  3. ตั้งใจสนทนา หมายถึง เราจงตั้งใจสนทนา เป็นผู้ฟังมากๆ ยิ่งฟังมากก็จะรู้มาก
  4. เจรจาไพเราะ หมายถึง เราจงเจรจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะเสนาะโสต คำพูดที่รื่นหูจะมีแต่คนนิยมชมชอบ ไม่มีใครชอบคนพูดตะคอก พูดเสียดสี
  5. สงเคราะห์เกื้อกูล หมายถึง เราจงให้การสงเคราะห์เกื้อกูลแก่ผู้ที่เราเกี่ยวข้อง เช่นให้ความช่วยเหลือจัดหาสิ่งของมาฝากบ้างตามสมควร

ศิลปะการเข้าถึงบุคคลเพื่อสร้างความคิดร่วม

 

 

 

 

 

การสร้างมนุษยสัมพันธ์เพื่อความคิดร่วมกันในการดำเนินภารกิจในชีวิตประจำวัน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น โดยใช้ศิลปะใน การเข้าถึงบุคคลดังนี้

 

  1. เคารพในความเป็นมนุษย์ของทุกคน โดยไม่มีชั้นวรรณะ ปฏิบัติต่อกันในลักษณะของคนกับคน บุคคลอื่นคือมนุษย์ร่วมโลกและสังคมเดียวกันกับเรา มีเกียรติ มีค่า และมีสิทธิเท่าเทียมกับเรา เราจึงควรให้เกียรติ เกรงใจและไม่ล้ำสิทธิของผู้อื่น

2.การมองโลกในแง่ดีและมองแต่ส่วนดีของผู้อื่นจะทำให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อสิ่งต่างๆและบุคคลที่อยู่แวดล้อมตัวเรา ไว้วางใจและเชื่อมั่นในบุคคลอื่น ซึ่งจะง่ายแก่การขอความร่วมมือ

  1. ถามความคิดเห็นและรับฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่น แม้ว่าความคิดเห็นนั้นอาจจะขัดหรือตรงกันข้ามกับความคิดเห็นของเรา โดยเปิดโอกาสให้มีการอภิปราย ซักถามและเสนอแนะ ซึ่งจะก่อให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจว่ามีบทบาทสำคัญ มีส่วนร่วมในผลสำเร็จขององค์การด้วย
  2. ชี้แจงนโยบาย แผนงานและปัญหาต่าง ๆ ให้เป็นที่เข้าใจอย่างชัดเจนและทันต่อเหตุการณ์ หากสิ่งใดไม่สามารถปฏิบัติได้ก็ให้อธิบายให้ฟังด้วยเหตุผลจนเข้าใจ ตลอดจนสนับสนุนให้บุคคลอื่นมีบทบาทร่วมในการกำหนดนโยบายวางแผนและตัดสินในเกี่ยวกับการแก้ปัญหา เป้าหมายและการดำเนินการขององค์การ

 

 

  1. การรักษาและสนใจเรื่องเกี่ยวกับ ผลประโยชน์ของผู้ร่วมงาน และส่วนรวมมากกว่าผล
    ประโยชน์ของตนเอง เช่น การขอปรับวุฒิ เลื่อนขั้น เงินพิเศษ เป็นต้น
    6. ใจกว้าง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เอาใจใส่ต่อความทุกข์ส่วนตัวและในด้านการทำงานของบุคคลอื่น ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วย เมื่อมีทุกข์ก็ช่วยเหลือให้กำลังใจและคำปรึกษาแนะนำแนวทางและวิธีแก้ไข ปัญหาที่กำลังประสบเท่าที่จะทำได้อย่างเห็นใจ จริงใจและเสมอต้นเสมอปลาย
    7. ให้ความยุติธรรมและปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเสมอภาคในทุกๆ ด้านไม่ลำเอียงหรือแสดงว่ารักใคร เกลียดใครเป็นพิเศษตำหนิหรือลงโทษผู้กระทำผิด และสนับสนุนยกย่อง ชมเชย และให้เกียรติผู้ที่ทำความดี ตลอดจนแสดงความยินดีเมื่อผู้อื่นประสบความสำเร็จไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม
    8. เอาใจใส่และสนองความต้องการของบุคคลอื่น ทั้งในด้านวัตถุและจิตใจเท่าที่จะทำได้ โดยพยามยามผสมผสานความต้องการของสมาชิกแต่ละคนให้สอดคล้องกับความต้องการและเป้าหมายขององค์การ เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในองค์การ ความจงรักภักดีต่อองค์การ และความสามัคคีก็จะเกิดขึ้น9. แสดงจุดร่วม สงวนจุดต่าง พยายามพูดกันในสิ่งที่สามารถตกลงกันได้ ส่วนสิ่งที่ขัดแย้งกันไม่ควรจะกล่าวถึงหากมีการแก้ไขปรับปรุงก็ควรแก้ไขปรับปรุงที่ตัวเราเองก่อนที่จะขอให้ผู้อื่นแก้ไขเปลี่ยนแปลง
    10. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อบุคคลอื่น และเข้ากับบุคคลอื่นได้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้รับความสนับสนุนร่วมมือในกิจกรรมต่าง ๆ ของชีวิต ตลอดจนการสร้างบรรยากาศในการอยู่ร่วมกันกับบุคคลอื่น ให้เป็นไปในทางที่เกิดความสัมพันธ์ที่ดีตลอดเวลา รู้จักทักทาย ยิ้มแย้มแจ่มใส สนุกสนานร่างเริง สดชื่น กระฉับกระเฉง พูดกับบุคคลอื่นด้วยถ้อยคำที่เป็นมิตร นุ่มนวล สุภาพ อ่อนโยน และถ้อยคำ ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมกัน เช่น “พวกเรา” และให้เกียรติกัน ควรงดเว้นการเป็นนักวิชาการบ้างในบางขณะ หาเรื่องสนุกสนาน มาพูดคุย หลีกเลี่ยงการโต้เถียง และอาจเห็นคล้อยตามในเรื่องที่ไม่สลักสำคัญ อย่านินทาว่าร้าย วิพากษ์วิจารณ์บุคคลอื่นโดยไม่จำเป็น ในกรณีที่ต้องออกคำสั่งให้ผู้อื่น ปฏิบัติตามก็ควรจะเป็นคำสั่ง ที่อ่อนโยนละมุนละม่อม และถามความรู้สึกก่อนที่จะออกคำสั่งก็จะได้รับการปฏิบัติตามอย่างเต็มใจ